
สวัสดีค่ะ สำหรับในหน้าฝนแบบนี้ (ที่ฝนไม่ค่อยตก) หรือพายุเข้า ฝนหลงฤดูต่างทำให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนรู้สึกแย่ใช่ไหมคะ ฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันค่ะ ที่เวลาจะออกไปทำงานหรือไปทำธุระแล้วฝนดันมาตกในตอนที่เราจะกลับบ้านแบบพอดิบพอดี

แต่ในประเทศญี่ปุ่นเขาจะมีเครื่องรางที่เอาไว้ใช้สำหรับไล่ฝนโดยเฉพาะ นั่นก็คือการแขวน “เทะรุ เทะรุ โบสุ” (Teru teru bouzu) หรือตุ๊กตาไล่ฝน ที่เราเคยเห็นกันในการ์ตูนเรื่อง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา” ค่ะ
เทะรุ เทะรุ โบสุ เป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว หัวกลมตัวเล็ก ๆ สามารถวาดตกแต่งหน้าตาได้ เด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมักนิยมแขวนเอาไว้ก่อนวันสำคัญหนึ่งวันอย่างเช่น วันแข่งกีฬา วันออกทัศนศึกษา หรือวันที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อให้วันนั้นมีท้องฟ้าที่สดใส ไร้เมฆฝน และหากในวันนั้นฝนไม่ตกเด็ก ๆ จะหากระดิ่งมาแขวนให้กับตุ๊กตาหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝนเพื่อเป็นการขอบคุณ
นอกจากนั้นตุ๊กตาไล่ฝนยังถือว่าเป็นเครื่องรางสำหรับพกติดตัว ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่า “ตุ๊กตาไล่ฝนจะนำความสดใส ปลอดโปร่งมาให้กับผู้เป็นเจ้าของ” ตรงข้ามกับตำนานที่สุดแสนจะโหดร้ายของเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้เลยล่ะค่ะ
ตำนานของตุ๊กตาไล่ฝน ประเทศญี่ปุ่นในสมัยโบราณมีพระสงฆ์อยู่รูปหนึ่งที่สามารถทำพิธีปัดเป่า บันดาลให้ฝนหยุดตกได้ ไดเมียวในสมัยนั้นจึงได้นิมนต์ท่านมาทำพิธีปัดเป่าให้ฝนหยุดตก แต่ปรากฏว่าท่านไม่สามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ ไดเมียวจึงสั่งลงโทษพระสงฆ์รูปนั้นด้วยการตัดคอ แล้วนำผ้าสีขาวห่อศีรษะเอาไว้แล้วนำไปแขวน แต่บางตำนานก็เล่าว่าไม่ได้นำตัดคอ แต่ถูกจับห่อผ้าสีขาวแล้วแขวนคอ และอาจเป็นที่มาของชื่อ เทะรุ เทะรุ โบสุ ที่สามารถแยกคำออกมาได้ได้ว่า “เทะรุ แปลว่า แดดออก” และ “โบสุ แปลว่า หัวล้าน” หรืออาจจะหมายถึงพระสงฆ์ก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ

