
สวัสดีค่ะ ในประเทศญี่ปุ่นมักมีเรื่องขู่ขวัญเด็ก ๆ หลากหลายเรื่องอย่างเช่นในตอนฝนตกฟ้าร้องผู้ใหญ่จะให้เด็ก ๆ ปิดสะดือเอาไว้ให้ดี ตามความเชื่อที่ว่า “ไรจิน” จะลงมากินสะดือเด็ก ตามความเชื่อโบราณของประเทศญี่ปุ่น “ไรจิน” เทพแห่งอัศนี และ “ฟูจิน” เทพแห่งลม มักจะถูกพูดถึงพร้อมกัน และอยู่คู่กันเสมอ โดยลักษณะของเทพทั้งสองนั้นมีความคล้ายกับปีศาจ ใบหน้าดุดันแข็งแกร้าวแทบจะตลอดเวลา มีผิวกายสีแดง

ตำนานการกำเนิดญี่ปุ่นตามคติชินโตเล่าถึง “เทพไรจิน” กับ “เทพฟูจิน” ว่าทั้งสองต่างถือกำเนิดจากมหาเทพกับมหาเทวีผู้ทรงสร้างเกาะญี่ปุ่น ไรจินถือกำเนิดจากหนอน 8 ตัวที่ไปเกาะตามตัวขอมหาเวทีตอนนางตกสู่ปรโลก จึงกลายเป็นไรจินทั้งแปดและได้รับมอบหมายให้ปกปักรักษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อใดที่เทพไรจินปรากฏตัวจะมาพร้อมกับค้อนยักษ์และกลองที่มีสัญลักษณ์โทโมะเอะ และทันทีที่เริ่มตีท้องฟ้าจะเริ่มแปรปรวนจนเกิดลมพายุ และฟ้าคะนอง คนญี่ปุ่นเชื่อเทพไรจินจะช่วยดลบันดาลเรื่องฟ้าฝนสำหรับพืชผลการเกษตร ในญี่ปุ่นมีเรื่องหลอกเด็กด้วยว่าตอนฝนตกฟ้าร้องให้ปิดสะดือเอาไว้ให้ดี สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าไรจินจะลงมากินสะดือเด็ก ตามข้อสันนิษฐานว่าคงมาจากการพบว่ารอบสะดือของคนที่ถูกฟ้าผ่าตายมีรอยไหม้ดำ ๆ คล้ายกับสะดือถูกควัก
“เทพฟูจิน” เทพแห่งลม ถือกำหนดจากวันหนึ่งที่มหาเทวีสูดหมอกยามเข้าไป เมื่อหายใจออกมาก็กลายเป็นฟูจิน ในบางภาคภาพลักษณ์สะท้อนออกมาในฐานะปีศาจหรือยักษ์ที่สร้างความเสียหายแก่ไร่นาหรือการประมงด้วยการโยกย้ายกระแสลม หรือหากเข้าสู่ร่างกายคนก็จะเป็นสาเหตุให้เจ็บไข้ได้ป่วย ในสมัยเอโดะเมื่อมีโรคหวัดระบาด ก็ถึงกับนำฟางมามัดทำเป็นตุ๊กตาฟางแทนตัวฟูจิน ทำพิธีถือเคล็ดปัดเป่าไล่ฟูจินออกไป แล้วเอาตุ๊กตาฟางไปลอยน้ำ
เราสามารถพบเทพทั้งสองได้ตามวัด หรือหอภาพ โดยภาพของ “ไรจิน” และ “ฟูจิน” ที่วาดโดยคุณ ทาวารายะ โซตัตสึ (俵屋宗達; Tawaraya Sōtatsu; พ.ศ. 2113-2183) ประมาณครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 ช่วงต้นสมัยเอโดะ ตอนนั้นเกียวโตยังเป็นนครหลวง และภาพนี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติแล้วปัจจุบันอยู่ที่วัดเค็นนินจิในจังหวัดเกียวโต ในสมัยเอโดะผลงานนี้ไม่แพร่หลายนัก แต่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วประเทศญี่ปุ่น