
สวัสดีค่ะถ้าพูดถึงการละเล่นของเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่น การพับกระดาษให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ อย่างนกกระเรียน เต่า หรือว่ากระต่ายก็คงเป็นหนึ่งในการละเล่นของเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นที่เรานึกถึงกันใช่ไหมล่ะคะ ประเทศญี่ปุ่นเขาจะเรียกการพับกระดาษแบบนี้ว่า โอริงามิ หรือศิลปะการพับกระดาษ โดยการใช้กระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตร ไปจนถึง 25 เซนติเมตรที่เป็นสีเดียวกัน หรือต่างสี จะมีลวดลายบนกระดาษหรือไม่มีลวดลายก็ได้ตามแต่ผู้พับ
โอริงามิ เป็นคำเรียกที่มาจากสองคำรวมกันคือคำว่า “โอริ” ที่มีความหมายว่า “การพับ” และคำว่า “กามิ” ที่มีความหมายว่า “กระดาษ” รวมกันจะมีความหมายว่า “ศิลปะในการพับกระดาษ เพื่อสร้างสรรค์รูปทรงหรือวัตถุต่าง ๆ ขึ้นมาจากกระดาษ” ซึ่งในส่วนมากจะไม่มีการตัดกระดาษ แต่สำหรับการตัดระหว่างในการทำจะถูกเรียกว่า “คิริงามิ (切り紙)” แทนการเรียกว่า “โอริงามิ (折り紙)”

และนอกจากนั้นนักประวัติศาสตร์ยังเชื่อว่า “การพับกระดาษ” น่าจะเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือใช้สำหรับห่อสิ่งของ หรืออาจจะเป็นการบ่งบอกฐานะทางสังคมในยุคสมัยเฮอัน (ปี ค.ศ. 794-1192) และยังพบร่องรอยการห่อชุดกิโมโนด้วยกระดาษ “ทาโตงามิ (tatogami)” ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่าการห่อสิ่งของด้วยกระดาษ ทั้งที่ในสมัยก่อนกระดาษถือว่าเป็นสิ่งที่มีราคาแพงเป็นอย่างมาก มีแค่คนชนชั้นสูงเพียงเท่านั้นที่จะสามารถซื้อกระดาษใช้ได้ แต่หากยึดตามหลักของอาจารย์โอกามุระ มาซาโอะ (Okamura Masao) กูรูนักประวัติศาสตร์โอริงามิ ถือว่าการห่อสิ่งของด้วยกระดาษนั้น ไม่ใช่โอริงามิ
ในอดีตการพับกระดาษถือว่าเป็นเคล็ดลับวิชาที่จะถูกถ่ายทอดให้กับบุคคลภายในตระกูลเท่านั้นชนชั้นสูงหรือภายในตระกูลซามูไรเท่านั้น ทำให้ยากต่อการค้นหาว่าแท้จริงแล้ว “โอริงามิ” นั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยใดกันแน่